โครงการฝึกอาชีพระยะสั้นเยาวชนและประชาชนทั่วไป ประจำปีงบประมาณ 2566 องค์การบริหารส่วนตำบลหนองกุง อำเภอโนนคูณ จังหวัดศรีสะเกษ

ในภาวการณ์ปัจจุบัน ความเจริญก้าวหน้าด้านเศรษฐกิจ และเทคโนโลยี มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว การดำเนินชีวิต การประกอบอาชีพมีการแข่งขันค่อนข้างสูง มีการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งสภาพบ้านเมืองในปัจจุบันที่ประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจ ราคาสินค้าโดยทั่วไปได้ปรับตัวสูง ประชาชนโดยทั่วไปจึงต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น การประกอบอาชีพในปัจจุบันจึงไม่ได้มุ่งเน้นเพียงรายได้หลักเพียงอย่างเดียว การสนับสนุนให้ประชาชนโดยทั่วไปมีอาชีพเสริมเพื่อเพิ่มพูนรายได้ ตลอดจนการพึ่งพาตนเองโดยใช้หลักการและปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง ” ซึ่งมีความเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งราษฎรในเขตพื้นที่ตำบลหนองกุง ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกี่ยวข้องกับการการเกษตร การทำนา เป็นอาชีพหลัก และมีการว่างงานหลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิต โครงการฝึกอาชีพระยะสั้นเยาวชนและประชาชนทั่วไป ให้แก่ประชาชน เยาวชน และผู้ที่สนใจ ประจำปี ๒๕๖6 จัดขึ้นตามนโยบายขององค์การบริหารส่วนตำบล ที่มุ่งพัฒนาด้านคุณภาพชีวิต ที่มุ่งเน้นส่งเสริมสนับสนุนการจัดการศึกษาอบรมและการฝึกอาชีพตามความเหมาะสม และความต้องการของประชาชนในท้องถิ่น เพื่อพัฒนารายได้ของประชาชนโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มพูนความรู้ ทักษะ สร้างความชำนาญและประสบการณ์ด้านการประกอบอาชีพ ยกระดับสินค้าอุตสาหกรรมพื้นบ้านให้มีคุณภาพและสามารถเป็นที่ยอมรับของผู้ บริโภค รวมถึงเพื่อสร้างรายได้และสร้างประสบการณ์ด้านทักษะการฝึกอาชีพ ซึ่งในครั้งนี้เป็นการจัดฝึกอบรมหลักสูตรระยะสั้น โดยอบรมทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ โดยการฝึกอบรมครั้งนี้ ได้วิทยากรที่มีความรู้ความสามารถ เต็มใจที่จะถ่ายทอดประสบการณ์และเทคนิคต่างๆ ให้แก่ผู้เข้ารับการฝึกอบรม เพื่อเป็นการเพิ่มรายได้ ลดรายจ่ายแก่ตนเอง ครอบครัว ชุมชน ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงต่อไป ดังนั้น องค์การบริหารส่วนตำบลหนองกุง ได้จัดทำโครงการฝึกอาชีพระยะสั้นเยาวชนและประชาชนทั่วไป โดยได้อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 มาตรา 16 (ข้อ 6) และพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 มาตรา 67 (ข้อ 6) และมาตรา 68 (7) และได้ยึดแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช มาใช้ให้คนชุมชนได้ปฏิบัติตาม และให้บังเกิดได้ในชีวิตประจำวันของทุก ๆ คนด้วยการรู้จักการใช้ทรัพยากรภายในชุมชนได้อย่างคุ้มค่า รู้จักการรู้รักสามัคคีภายในชุมชนด้วยการรวมกลุ่มเพื่อสร้างอาชีพ สร้างรายได้ ต่อไป